วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การละเล่นพื้นบ้านไทย

มอญซ่อนผ้า
     อุปกรณ์
        ผ้าเช็ดหน้าขนาดใหญ่หนึ่งผืน ไม่ต้องขมวดหรือพันให้เป็นเกลียว เพราะถ้าฟาดถูกผู้ใดเข้าแล้วจะเจ็บ

        วิธีเล่น
        ขั้นที่ ๑ ให้ผู้เล่นทั้งหมดจับไม้สั้นไม้ยาว ผู้ที่ได้ไม้สั้นที่สุด ถือผ้าเช็ดหน้าที่เตรียมไว้แล้วออกไปยืนข้างนอก ที่เหลือนอกนั้นนั่งกันเป็นวงกลม หันหน้าเข้าหากัน ในระยะห่างกันประมาณ ๑ ศอก เอามือทั้งสองพาดไว้ที่ตัก คุยกันหรือร้องเพลงก็ได้ เพื่อความรื่นเริง
        ขั้นที่ ๒ ให้ผู้ถือผ้าบังตัวไว้มิให้ผู้นั่งเห็นได้ถนัด แล้วเดินหรือวิ่งไปรอบๆ วงต้องทำท่าหรือหน้าตาให้สนิท เดินบ้างวิ่งบ้าง ทำเป็นวางผ้าแต่ไม่วาง เพื่อหลอกล่อผู้ที่นั่งให้เผลอตัวเมื่อเห็นเป็นโอกาสแล้วก็แอบหย่อนผ้าลงไว้ใกล้หลังผู้นั่งคนใดคนหนึ่ง เมื่อวางผ้าแล้วควรเดินหรือวิ่งให้เร็วต่อไปเพื่อกลับถึงที่เดิมโดยมิให้ผู้นั้นต้องรู้ตัว
        ขั้นที่ ๓ ถ้าผู้ถูกวางผ้าข้างหลังรู้สึกตัวเสียก่อนผู้วางผ้ามาถึง ก็ต้องรีบฉวยผ้าวิ่งมานั่งแทนที่ของตนได้ แล้วจึงเดินหาโอกาสวางผ้าไว้ข้างหลังผู้หนึ่งผู้ใดต่อไป แต่ถ้าถูกวางข้างหลังไม่รู้สึกตัว จนผู้ที่วางวิ่งมาถึงก็หยิบผ้าที่วางนั้นขึ้นฟาดผู้ถูกวางจนกว่าจะลุกขึ้นรับผ้าออกเดิน ผู้วางจึงลงนั่งแทนที่
ข้อระวังในการเล่น ผู้นั่งทุกคนจะหันหน้าไปดูข้างหลังไม่ได้ ถ้าหากสงสัยว่าจะมีผ้าอยู่ข้างหลังตนหรือไม่ก็ให้ใช้มือคลำดูเท่านั้น ผู้ถือต้องวางผ้าลงข้างหลังให้ใกล้ตัวผู้นั่ง จะวางเกินกว่า ๑ ศอกไม่ได้และให้วิ่งหรือเดินต่อไปข้างหน้าจนบรรจบรอบ จะหันหลังเดินย้อนมาไม่ได้


        เพลงประกอบการเล่น
        "มอญซ่อนผ้า ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง  ใครเผลอคอยระวัง ใครเผลอคอยระวัง ตุ๊กตาอยู่ข้างหลังระวังจะถูกตี”

        คุณค่า/แนวคิด/สาระ
        1. เพื่อหัดให้ผู้เล่นเป็นคนว่องไว
        2. เพื่อฝึกให้ผู้เล่นเป็นคนที่มีไหวพริบและรู้จักสังเกตเหตุการณ์ต่างๆ
                  วิ่งกระสอบ

ประวัติความเป็นมา
  วิ่งสวมกระสอบเป็นกีฬาพื้นเมืองของภาคกลาง แต่นิยมเล่นกันอย่าง
แพร่หลายในหลายๆ จังหวัด วิ่งสวมกระสอบเป็นกีฬาประเภทเสริมสร้างความสนุกสนานรื่นเริง ช่วยฝึกผู้เล่นมีการก้าวเท้าเป็นระยะเท่าๆ กัน และยังฝึกให้มีหลักในการทรงตัวดีด้วย สันนิษฐานว่ากีฬาวิ่งสวมกระสอบ จะดัดแปลง
รูปแบบและวิธีการเล่นมาจากกีฬาวิ่งวัวคน เพราะจากหลักฐานพบว่ามีการแข่งขันกีฬาวิ่งสวมกระสอบมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ในงานกรีฑาของ
กรมศึกษาธิการ เมื่อ ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2445) ปรากฏว่ามีรายการแข่งขัน
วิ่งสวมกระสอบอยู่ด้วย ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า “วิ่งวัวสวมกระสอบ” จากนั้นใน ร.ศ.123 (พ.ศ.2447) กรมศึกษาธิการก็ได้จัดให้มีการแข่งขันวิ่งสวมกระสอบ โดยเรียกชื่อว่า “วิ่งสวมกระสอบ” และจัดให้มีการแข่งขันวิ่งสวมกระสอบในกรีฑาของกระทรวงธรรมการ เป็นประจำแทบทุกปีเรื่อยมา 
กีฬาวิ่งสวมกระสอบนอกจากจะเป็นที่นิยมเล่นกันในภาคกลางแล้ว ยังแพร่หลายเป็นที่นิยมเล่นของภาคต่างๆ ด้วย เช่น ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ เมืองภูเก็ต เมื่อ ร.ศ.128 (พ.ศ.2452) ได้จัดให้มีการแข่งขันกรีฑาของนักเรียนโรงเรียนต่างๆ การแข่งขันครั้งนี้ในประเภทการแข่งขันออกกำลังนั้น ปรากฏว่าได้จัดให้มีการแข่งขันวิ่งสวมกระสอบอยู่ด้วย และในการแข่งขันกรีฑานักเรียน ณ จังหวัดสตูล เนื่องในงานเฉลิมพระชนพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ได้จัดให้มีการ
แข่งขันวิ่งสวมกระสอบเช่นกัน ในปัจจุบันกีฬาวิ่งสวมกระสอบยังคงมีการเล่นแข่งขันกันอยู่โดยทั่วไป และมักจัดแข่งขันกันในหมู่เด็กนักเรียนในโรงเรียน หรืองานรื่นเริงประจำของจังหวัดหรือหมู่บ้านต่างๆ เพื่อความ สนุกสนาน รื่นเริง
  กฏกติกา
1. นักกีฬาวิ่งแข่งสวมกระสอบนั้น จะต้องสวมกระสอบอยู่ตลอดเวลา โดยวิ่งภายในกระสอบ ห้ามกระโดด และให้ใช้วิธีวิ่งซอยเท้าเร็วๆ เท่านั้น

2. ถ้ากระสอบหลุดจากมือ จะต้องหยุดก่อน แล้วดึงกระสอบขึ้นโดยเร็วจึงวิ่งต่อได้ แต่ต้องไม่ให้เท้าหลุดออกจากกระสอบ
 ผู้แข่งขัน
  แข่งขันได้ทั้งชายและหญิง จำนวนผู้แข่งขันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ไม่จำกัดจำนวน
อุปกรณืที่ใช้
       กระสอบข้าว (เชือกป่าน) โดยใช้กระสอบข้าว 1 ลูกต่อผู้แข่งขัน 1 คน
 สถานที่ใช้ในการแข่งขัน
     บริเวณสนามกว้างๆ เช่น สนามหญ้าในโรงเรียน สนามกีฬาทั่วไป โดยกำหนดเส้นยาวไว้ที่พื้นสนามด้านหนึ่งเป็นเส้นเริ่มต้นจากเส้นเริ่มต้น วัดระยะไปประมาณ 50 ม. ให้ทำเส้นยาวไว้ที่พื้นขนานกับเส้นเริ่มต้นถือเป็นเส้นชัย ในปัจจุบันสามารถใช้ลู่วิ่งตามสนามกีฬาทั่วๆ ไปได้
วิธีการเล่น 
ในปัจจุบันมีการแข่งขัน เป็นประเภทวิ่งเดี่ยว และประเภทวิ่งผลัด
1.  ประเภทวิ่งเดี่ยว
ผู้แข่งขันแต่ละคนจะได้รับกระสอบคนละ 1 ใบ และต้องใช้เท้าทั้งสองข้างสวมลงในกระสอบ โดยใช้มือทั้งสองข้างจับปากกระสอบให้แน่น จากนั้นนอนหงายเรียงเป็นแถวห่างกันพอประมาณด้านหลังเส้นเริ่มต้นให้ศรีษะจรดเส้นเริ่มต้นและหันศรีษะไปทางเส้นชัย
เมื่อได้ยินสัญญาณเริ่มแข่งขัน ผู้แข่งขันทุกคนลุกขึ้น แล้วกลับหลังหันวิ่งแข่งกันไปยัง เส้นชัย ผู้แข่งขันคนใดวิ่งถึงเส้นชัยก่อนคือผู้ชนะ
2.  ประเภทวิ่งผลัด 
     วิธีการแข่งขันจะเหมือนกับประเภทวิ่งเดี่ยว จะต่างกันตรงที่ เมื่อผู้แข่งขันคนแรกในทีมวิ่งไปถึง เส้นชัยแล้ว จะต้องวิ่งกลับมายังจุดเริ่มต้น เพื่อส่งกระสอบต่อให้ผู้แข่งขันร่วมทีมคนต่อไปวิ่งต่อ จนครบตามจำนวนผู้แข่งขันในทีม และเมื่อผู้แข่งขันคนสุดท้ายในทีมวิ่งเข้าถึงเส้นชัยก่อน ถือว่า ทีมนั้นเป็นฝ่ายชนะ 
แหล่งอ้างอิง : http://www.l3nr.org/posts/454205 และ http://student.nu.ac.th/sowanee/morn.html
ขอบคุณวีดีโอ : http://www.youtube.com/watch?v=MwdNrXILS2Q 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น